วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หญ้าชนิดใหม่ของเมืองไทย


               

 สิ่งมีชีวิตที่เกิดมาบนโลกนี้ล้วนเกิดมาและมีความความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นทั้งสิ้น ไม่ว่าแง่ใดก็แง่หนึ่ง บางครั้งสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่ไม่ สามารถปราศจากกันและกันได้ หรือการมีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเป็นดัชชีชี้วัดลักษณะความอุดมสมบูรณ์ของ พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง นั่นเป็นสิ่งที่เรานักวิชาการต้องการจะเผยแพร่ให้ได้รับรู้ วารสาร อพวช. ฉบับนี้ขอนำเสนอการค้นพบ หญ้าเกาะกูด หญ้าชนิดพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบโดย ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ นักวิชาการ ของ อพวช. และ ดร.สราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ

                หญ้าเกาะกูดพบและเก็บตัวอย่างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 จากน้ำตกคลองเจ้า เกาะกูด จังหวัดตราด โดยนายจรัล ฉ. เจริญผล นักวิชาการประจำกรมป่าไม้ โดยในขณะนั้นการตรวจสอบโดยเบื้องต้นพบว่าหญ้าดังกล่าวมีลักษณะคล้ายหญ้าชนิด หนึ่งที่ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arundinella metzii Hochst. ex Miq. กระทั่งต่อมา ดร. อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ และดร.สราวุธ สังข์แก้ว ได้ศึกษาและตรวจสอบตัวอย่างหญ้าดังกล่าวอย่างละเอียดและพบว่าหญ้าดังกล่าว ไม่ใช่หญ้าที่ชื่อว่า A. metzii แต่พบว่าเป็นหญ้าชนิดใหม่ของโลก (world new grass species) ที่มีลักษณะเด่นคือ เป็นหญ้าที่มีเกสรเพศผู้ 2 อัน และที่ปลายกาบล่างมีหางซึ่งค่อนข้างยาว ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะที่ไม่เคยพบมาก่อนและมีความแตกต่างจากสมาชิก อื่นในกลุ่มสกุล Arundinella อย่างมาก ดังนั้นจึงได้ตีพิมพ์เผยแพร่ชื่อวิทยาศาสตร์ของหญ้าเกาะกูดในวารสารทาง วิชาการด้านอนุกรมวิธานพืช Kew Bulletin ในปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) โดยตั้งชื่อหญ้าดังกล่าวว่า ?หญ้าเกาะกูด? (Arundinella kokutensis Teerawat. & Sungkaew) เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่พบ คือ ที่น้ำตกกคลองเจ้า เกาะกูด จังหวัดตราด

               หญ้าเกาะกูด เป็นหญ้าล้มลุกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 40 เซนติเมตร ลำต้นเรียวเล็กและอวบน้ำ พบขึ้นเป็นกลุ่มอยู่เฉพาะบริเวณน้ำตกและตามซอกหินหรือกลุ่มหินใกล้น้ำตก หญ้าชนิดนี้คาดว่าน่าจะเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย เพราะจนถึงปัจจุบันสำรวจพบหญ้าชนิดนี้ขึ้นเจริญเติบโตเฉพาะที่เกาะกูดเท่านั้น และน่าเป็นห่วงว่าอาจจะสูญพันธุ์เนื่องจากพบขึ้นเจริญอยู่เพียงบริเวณเดียว ในสถานที่ที่จำเพาะและเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง

                เพราะฉะนั้นการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะแสดงถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น  และค้นหาความสัมพันธ์ที่มีกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอย่างไร และต่อไปเราจะดำเนินการอย่างไรในการอนุรักษ์ให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นให้คงอยู่ตลอดไป



ที่มา  :  วิชาการดอทคอมhttp://www.banprak-nfe.com/webboard/index.php/topic,1958.0.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น